14.02.2558
เรื่อง: SCG Experience
รีโนเวทบ้าน ให้เป็นโรงแรม 137 Pillars House
โรงแรมสไตล์ร่วมสมัยแห่งการอนุรักษ์
ต้นไม้เดิมเป็นจุดเด่นเมื่อมองออกจากล็อบบี้
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
การใช้วัสดุพืชพันธุ์ในการบังมุมมองจากคอร์ททางเข้าเพื่อความเป็นส่วนตัวให้กับห้องสวีท
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
บูทีคโฮเทลหรูใจกลางเมืองอาจมีให้เห็นได้ทั่วไป แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีเสน่ห์ของคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และความผูกพันอันยาวนานกับท้องที่เหมือนโรงแรม 137 Pillars House บนพื้นที่ขนาดหนึ่งไร่เศษกลางเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สงบ มีความเป็นส่วนตัว ตัดขาดออกจากความซับซ้อนวุ่นวายของตัวเมือง ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองความต้องการของแขกผู้เข้าพักในเรื่องความหรูหรา สะดวกสบายทั้งในการพักผ่อนและการเชื่อมต่อสู่ตัวเมืองด้วย
เดิมที 137 Pillars House หรือบ้านบอร์เนียว เมื่อร้อยยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ถูกสร้างขึ้นเป็นบ้านพักผู้จัดการของบริษัทสัมปทานป่าไม้ชื่อ บริษัทอีสบอร์เนียว จำกัด ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบ้านไม้สักที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลล้านนาที่มีเสาจำนวนมากถึง 137 ต้นและรายล้อมไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านและพื้นที่โดยรอบได้ถูกปล่อยร้างเป็นเวลานานกลายเป็นพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยพืชพันธุ์แบบป่ารก พื้นที่ถูกเปลี่ยนมือมาจนถึงปัจจุบัน ที่ผู้ถือครองมีวิสัยทัศน์และความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ โดยอนุรักษ์ความเป็นประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นและบรรยากาศดั้งเดิม มีการเก็บรักษากลุ่มพืชพันธุ์ที่มีคุณค่า และบ้านไม้สักเดิมได้ถูกซ่อมแซม ซึ่งองค์ประกอบหลักนี้เป็นตัวสร้างกรอบให้กับการวางผังโครงการ รีโนเวทบ้าน ให้เป็นโรงแรมโดยมีการสร้างอาคารเพิ่มเติมในบริเวณให้เป็นโรงแรมสำหรับห้องพักสวีท 30 ห้อง โดยทีมสถาปนิกจาก Habita Architects ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมโคโลเนียลล้านนา ตัวอาคารบ้านบอร์เนียวได้ถูกปรับปรุงให้เป็นแกลเลอรี่แสดงประวัติศาสตร์ของบ้านและพื้นที่ บาร์ และห้องอาหารระดับหรูของโรงแรม
พื้นที่พักผ่อนมีความเป็นส่วนตัวเกิดจากการโอบล้อมของอาคารที่ออกแบบให้สัมพันธ์กับบ้านแบบล้านนาดั้งเดิม
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
การยกคอร์ทหญ้าส่วนกลางสร้างพื้นที่เปิดโล่งเป็นศูนย์กลางของโครงการ
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
พื้นที่ส่วนกลางต่างระดับจัดเป็นส่วนนั่งพักผ่อนที่ผ่อนคลายใต้ร่มเงา
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
ในตัวเมืองเชียงใหม่เองมีโรงแรมระดับหรูจำนวนมากจึงมีการแข่งขันที่สูง ส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้งาน 137 Pillars House มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแตกต่างจากบูทีคโฮเทลอื่นๆ คืองานออกแบบ landscape จากบริษัท P Landscape ซึ่งให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เน้นการออกแบบที่ยั่งยืน รวมทั้งความสอดคล้องและการอนุรักษ์องค์ประกอบดั้งเดิมทั้งทางสถาปัตยกรรมและพืชพันธุ์เดิม
มีการรีโนเวทยกระดับบ้านเดิมให้สูงขึ้นเพื่อสร้างความโดดเด่นและเน้นความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ สืบเนื่องจากการที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมและถูกปล่อยร้างมานาน โครงสร้างบ้าน ที่เป็นไม้ของเดิมเริ่มมีการผุพังจากความชื้นและแมลง การยกบ้านให้สูงขึ้นช่วยให้มีลมพัดผ่าน เพื่อลดความชื้นและมีพื้นที่โล่งรองรับน้ำให้ซึมผ่านพื้นกรวดที่เตรียมไว้ได้ด้วย
งานออกแบบภูมิทัศน์ (landscape) แนวร่วมสมัยที่เล่นระดับช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับสระว่ายน้ำ เนื่องจากสถานที่ตั้งโรงแรมอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ที่รายล้อมไปด้วยอาคาร ที่อาจไม่เอื้อต่อความเป็นส่วนตัวและขาดความกลมกลืนกับโครงการ ภูมิสถาปนิกจึงออกแบบ green wall สูง 15 เมตรที่ช่วยบังสายตา สร้างความต่อเนื่องของพื้นที่สีเขียวและความเป็นส่วนตัวให้กับสระว่ายน้ำและบรรยากาศโดยรวมของโรงแรม นอกจากนี้งานออกแบบ landscape ยังช่วยร้อยเรียงเรื่องราวเชื่อมโยงกาลปัจจุบันไปสู่อดีต จากการใช้วัสดุพืชพันธุ์และวัสดุพื้นผิว การถ่ายระดับพื้นที่เน้นไปยังศูนย์กลางคือต้นยางอินเดียเก่าแก่ การสร้างพื้นที่สนามหญ้าส่วนกลางที่โอบล้อมไปด้วยอาคารเพื่อรองรับกิจกรรม เป็นการสะท้อนรูปแบบการใช้งานของหมู่บ้านไทยโบราณและป้องกันการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

สระบัวแสดงความเป็นสวนไทยและเงาสะท้อนช่วยลดความแข็งและเน้นการออกแบบร่วมสมัย
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
ต้นยางอินเดียที่อนุรักษ์ไว้เป็นจุดเด่นของพื้นที่ส่วนกลาง
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
การใช้ไม้เลื้อยเพียงชนิดเดียวของ green wall สร้างความเรียบง่าย ลดทอน แต่ยังคงความประทับใจให้กับผู้พบเห็น
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
โรงแรม 137 Pillars House เปิดตัวไปเมื่อปี 2012 และได้รับคำยกย่องมากมายจากหลายสถาบัน ทั้งทางการโรงแรมและบริการ รวมถึงด้านการออกแบบโรงแรม จากความงามร่วมสมัยและสเน่ห์ของการอนุรักษ์เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลล่าสุด
“Highly Commended” จาก
International Property Awards ในสาขา
Commercial Landscape Architecture ในปี 2014 อีกด้วย
P Landscape ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบแบบไทยที่พบในบ้านโบราณ โดยการใช้ปูนหมากในการออกแบบรายละเอียด
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
ภูมิสถาปนิกคำนึงถึงการอนุรักษ์ต้นไม้เดิมโดยเว้นพื้นที่สำหรับรากไม้ใหญ่
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
การออกแบบแสงสว่างช่วยสร้างบรรยากาศน่าค้นหาและโรแมนติกให้กับพื้นที่ส่วนกลาง
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
ด้านหลังของคอร์ทกลางที่ยกสูง และ Green wall ช่วยสร้างความสงบเป็นส่วนตัวให้กับสระว่ายน้ำ
ภาพถ่ายโดย: Wison Tungthunya
ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
P Landscape Co.,Ltd.
www.plandscape.com