ETFE วัสดุผนังโปร่งแสงที่มีดีมากกว่าความสวย

       Ethylene Tetrafluoroethylene, ETFE คือวัสดุที่ผลิตจากพลาสติกประเภทหนึ่ง ดูจากภายนอกแล้วเป็นวัสดุผิวลื่นที่เป็นแผ่นใสขุ่นคล้ายห่วงยางพองลม หากแลมองไกล ๆ แล้วจะดูคล้ายกับฟองสบู่ยักษ์เลยทีเดียว เพียงแต่ว่าฟองสบู่ยักษ์นี้ไม่สามารถถูกเจาะให้แตกได้โดยง่ายแค่จากปลายเข็มหรือลมปากเป่า ด้วยคุณสมบัติที่โปร่งแสงแต่ไม่โปร่งใสจนเกินไปกับสภาพภายในอาคาร มันจึงสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุผนังตกแต่งภายนอก หลังคาคลุมพื้นที่กว้าง สามารถปรับเปลี่ยนสีของตัวเองจากแสงไฟภายในด้วยการออกแบบแสงสว่างภายใน สีสันที่เปลี่ยนไปจะเป็นตัวสื่อสารถึงเรื่องราวภายใน วิธีนำมาใช้งานก็สามารถติดตั้งบนกรอบที่ออกแบบให้เป็นโครงแบบเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ตามใจผู้ออกแบบ ทั้งเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูไปจนโครงรูปแปดเหลี่ยม โดยที่มันสามารถปรับตัวไปตามโครงที่ออกแบบไว้และดันตัวเองจากการพองลมซึ่งช่วยเป็นฉนวนได้ ประกอบกับโครงของวัสดุ ETFE สามารถออกแบบให้ซ่อนไฟหลากสีไว้ภายใน เหล่านักออกแบบแสงสว่างจึงนิยมใช้ข้อนี้ในการซ่อนไฟไว้ภายใต้ผิวฟองสบู่ยักษ์เหล่านี้เพื่อเปล่งแสงสีต่าง ๆ ในยามค่ำคืน ในยามกลางวัน ETFE จึงเป็นวัสดุรับแสงจากภายนอกเข้ามาภายในให้เกิดชีวิตชีวาภายใน แต่ในเวลากลางคืนมันจึงเปล่งแสงหลากสีสันเป็นฟองสบู่ยักษ์เรืองแสงได้ในเวลาค่ำคืนให้กับเมืองและด้วยคุณสมบัติที่ต้องแยกเป็นช่องของแต่ละกรอบ การซ่อมบำรุงจึงสามารถเลือกเปลี่ยนผืนหรือเย็บซ่อมในแต่ละส่วนได้ จากคุณสมบัตินี้ ETFE จึงถูกเลือกใช้กับสถาปัตยกรรมที่ต้องการสร้างการรับรู้แบบใหม่ในหลาย ๆ ครั้ง

       ในแง่ของการเลือกใช้งานหากต้องการใช้วัสดุผนังที่โปร่งแสง แต่ไม่โปร่งใส เราจะพบกันทางเลือกที่เบากว่ากระจก ลดการรับน้ำหนัก ช่วยในเรื่องของการลดการใช้โครงสร้าง น้ำหนักเบามากเมื่อเทียบกับผนังกระจก ค่าความแตกต่างจะต่างกันเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว ตัวอย่างในต่างประเทศที่เราจะคุ้นตาจากงานโอลิมปิกที่จีนคืออาคารศูนย์กีฬาทางน้ำหรือ Beijing National Aquatics Center ที่ออกแบบโดย PTW สำนักงานสถาปนิกจากออสเตรเลีย แต่เราจะติดปากเรียกมันว่า Water Cube เสียมากกว่าเพราะมันแลดูคล้ายก้อนน้ำแข็งยักษ์ โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืนที่เปล่งแสงจากภายในออกมาแล้วยังกับน้ำแข็งในบาร์เหล้าหรูสักแห่งในมหานครหนึ่งเลยทีเดียว
หรือถ้าจะเอาใจคอบอล ก็ต้องเอ่ยถึง Allianz Arena ออกแบบโดย Herzog & de Meuron ซึ่งสำนักงานสถาปนิกระดับมือรางวัลพริทซ์เกอร์ที่จัดว่าเป็นรางวัลโนเบลแห่งวงการสถาปัตยกรรมกันเลยทีเดียว ผิวอาคารที่ดูเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูแลดูเป็นระเบียบ แต่เปล่งแสงสีตามช่วงเวลาต่าง ๆ คือการแสดงถึงคุณสมบัติของ ETFE ที่ผิวของ Arena จะเปลี่ยนไปทั้งสีแดง ม่วง ให้เราเลือกตีความเมื่อเห็นตัวมันในเวลาต่าง ๆ กัน

       หากผ่านไปยังแยกปทุมวันจะพบกับ facade ใหม่ของห้างสยามเซ็นเตอร์ที่เป็นกระจกหุ้มทั้งหลัง แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการปรับปรุง facade ใหม่ของห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ที่ปรับปรุงมาได้ร่วม 2-3 ปี สาเหตุที่น่าสนใจเพราะเป็นอาคารในไทยไม่กี่หลังที่ใช้วัสดุ ETFE หุ้มเปลือก ด้วยเนื่องจากเป็นธรรมชาติของอาคารเชิงพาณิชย์ที่ต้องปรุงรูปโฉมอยู่เสมอ จากที่ของเดิมเป็นอะลูมิเนียมคอมโพสิตสีเทาสลับทอง เมื่อต้องการปรุงรูปลักษณ์ใหม่ทางสถาปนิกที่ออกแบบจึงเลือกใช้ ETFE ซึ่งจัดว่าเป็นวัสดุสมัยใหม่มากในเวลานั้น (จนถึงเวลานี้ก็ตาม)

       แต่ด้วยมวลที่หนาแน่นน้อยกว่ากระจกหรือวัสดุผนังอื่น มันยินยอมให้เสียงจอแจลอดผ่านได้มากกว่า และมีประเด็นว่าแม้ว่าจะไม่ลามไฟ แต่เมื่อมันถูกเผาจะปล่อยกรดไฮโดรฟลูออริกออกมา จึงเป็นข้อที่ต้องขบคิดถึงความเหมาะสมในการใช้งาน และมันจัดว่าเป็นวัสดุใหม่ที่ยังเพิ่งนำมาใช้ในโลกและประเทศไทย เวลาจึงจะช่วยตัดสินว่า ETFE จะเหมาะกับสภาพอากาศฟ้าฝนแบบบ้านเราหรือไม่ต่อไป

แสงไฟหลากสีในยามค่ำคืนภายใต้ผิวETFEช่วยเสริมสร้างชีวิตให้แก่เมืองราตรี

รายละเอียดการติดตั้งของแผ่น ETFE

การปะทะกันของวัสดุเก่าที่เป็นอะลูมิเนียมคอมโพสิต กับ ETFE
ความต่างกันของวัสดุช่วยให้ส่วนที่ต่อเติมบอกยุคสมัยมากขึ้น

       อย่างไรก็ตาม วัสดุ ETFE ยังไม่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย หากใครสนใจอาจต้องสั่งซื้อจากสิงคโปร์ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่อังกฤษชื่อว่า Vector-Foitec

       สามารถดูข้อมูลวัสดุเพิ่มเติมที่ http://goo.gl/BtSiJz
       หรือเข้าเว็บไซต์โดยตรงที่ http://www.vector-foiltec.com



5.6K   Favorite   Print   Share  
            Change Password Change Password link-social signin-popupnew downloadplan-popupnew