ไอเดียแต่งบ้าน

รีโนเวททาวน์เฮ้าส์ ให้กลายเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่น่าอยู่

12.5K

12 มกราคม 2567

รีโนเวททาวน์เฮ้าส์ ให้กลายเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่น่าอยู่

          เจ้าของบ้านหลังนี้คือ คุณก้อง อวิรุทธ์ อุรุพงศา และคุณแพรว สุธาสินี วรดิษฐ์ ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยาที่เพิ่งตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันได้ไม่นาน ความต้องการเรื่องการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป ทำให้บ้านเก่าหลังนี้ถูกปรับปรุงให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยทั้งคู่นั้นเป็นสถาปนิก และคุณก้องเองก็ลงมือปรับปรุงบ้านหลังนี้ด้วยตนเอง โดยบ้านเดิมนั้นอายุ 28 ปี ปรับปรุงเป็นบ้านที่เรียบง่ายด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย ไม่แพง เช่น การทาสี การเปลี่ยนกระเบื้องภายใน การแบ่งห้องใหม่ การเปลี่ยนบานหน้าต่าง ภายนอกอาจไม่ปรับมาก แต่ภายในเหมือนคนละหลังกันเลยทีเดียว

          “เราต้องการบ้านเพื่อใช้เป็นเรือนหอในการสร้างครอบครัวใหม่ โดยเริ่มจากการมองหาซื้อบ้านจากงบประมาณที่มีอยู่ คือไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่โครงการบ้านจัดสรรใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะไปอยู่รอบนอกเมือง ซึ่งอยู่ไกลจากที่ทำงานและไม่สะดวกในการเดินทางของเราทั้งคู่ เลยต้องกลับมาคิดที่จะรีโนเวทบ้านเก่าที่มีอยู่แล้วหลังนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีกว่า อยู่ในเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ” คุณก้องกล่าวกับเราถึงความเป็นมาก่อนที่จะทำบ้านหลังนี้

          เมื่อตั้งใจจะทำอะไรใหม่กับการรีโนเวททาวน์เฮ้าส์หลังนี้ให้กลายเป็นบ้านใหม่สไตล์โมเดิร์นที่น่าอยู่แล้ว ต่อมาก็พิจารณาถึงรายละเอียดว่าเราจะทำอะไรบ้าง เช่น ทุบอาคารแล้วสร้างใหม่ หรือปรับปรุงภายในเท่านั้น และเจ้าของบ้านก็พบว่าเดิมนั้นเป็นอาคารทาวน์เฮ้าส์ห้องริม ซึ่งมีพื้นที่สวนด้านข้าง แต่ผนังอีกด้านนั้นติดกับเพื่อนบ้าน รวมถึงโครงสร้างของอาคารทาวน์เฮ้าส์นั้นก็เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมต่อกันทั้งหมด การทุบโครงสร้างจึงเป็นไปได้ยาก คุณก้องจึงเลือกที่จะคงรูปแบบภายนอกและโครงสร้างบ้านไว้ และปรับเปลี่ยนภายในเท่าที่จำเป็นแทน

เมื่อกาลเวลาผ่านไป รูปแบบและสไตล์ก็เปลี่ยนตามไปด้วย เช่นห้องทานข้าวนี้ คงโครงสร้างการยกพื้น และตำแหน่งครัวไว้ที่เดิม เพราะง่ายต่อการปรับปรุง แต่ลดเส้นสายที่ซับซ้อน เพิ่มความเรียบง่าย ความโปร่งสบายเข้าไปแทน

รูปแบบบ้านจัดสรรทั่วไปมักไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่รอบบ้านนัก กล่าวคือแบบบ้านทุกหลักจะเหมือนกัน ทั้งที่บางหลังมีพื้นที่สวน แต่ผนังด้านนั้นๆ กลับทึบเหมือนหลังอื่นๆ เจ้าของบ้านจึงทุบผนังและติดตั้งหน้าต่างบานใหญ่แทน

          หลักการในการออกแบบปรับปรุงบ้านนี้คือ จะต้องทำพื้นที่ใช้สอยให้ครบถ้วนภายในอาณาเขตของรั้วบ้าน โดยจะไม่มีการต่อเติมส่วนใดๆ เพิ่มเติมเกินไปกว่าระยะถอยร่นที่กฎหมายกำหนด และเนื่องจากเป็นอาคารเก่า ก็จะไม่มีการต่อเติมหรือเพิ่มภาระการรับน้ำหนักให้กับโครงสร้างเดิม เน้นที่ความเรียบง่าย สบายตา โล่ง ขาว และอยู่สบาย ซึ่งบ้านเดิมเป็นรูปแบบบ้านคลาสสิกร่วมสมัย (contemporary classic style) ภายนอกอาคารมีการตกแต่งด้วยปูนปั้นและบัวผนังรอบบ้าน รวมถึงเสาโรมันสูง ซึ่งเจ้าของบ้านคิดว่าพอรับได้ และไม่อยากยุ่งกับโครงสร้างเดิมของบ้าน จึงเปลี่ยนที่ภายในเป็นหลัก

          “เราพยายามลดรายละเอียดของบ้านลง บางห้องมีบัวผนังวิ่งรอบห้อง มีลูกเล่นขอบผนังที่ดูไม่เข้ากับเรา ก็รื้อออกแล้วทำให้เรียบง่ายที่สุด หน้าต่างแบบเก่าที่มีการซอยลูกฟักกระจก เราก็เปลี่ยนเป็นบานหน้าต่างที่ใหญ่ขึ้น ไม่มีการแบ่งลูกฟักให้รู้สึกอึดอัด บางตำแหน่งที่ต้องการแสงและมุมมองมากขึ้น เช่นที่ผนังชั้น 2 ซึ่งติดกับสวน เดิมนั้นทึบ เราก็ทุบและติดตั้งบานหน้าต่างเข้ามุม เพื่อรับแสงธรรมชาติและมองเห็นสวนได้ด้วย หรือพวกบล็อกแก้วที่โถงบันได ก็ได้แสงสว่างเข้ามาเพียงเล็กน้อย จึงเปลี่ยนเป็นบานกระจกยาวจากพื้นถึงฝ้า ทำให้โถงบันไดสว่างขึ้น”

          การปรับปรุงบ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจนต้องตกใจ แต่เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนบางส่วนที่จำเป็น เพื่อการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นการปรับปรุงที่เห็นผลที่สุดแล้ว เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ แม้ดูภายนอกนั้นอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อเข้าไปด้านใน เราจะพบความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาก และดูจะเพียงพอแล้ว

ทาวน์เฮาส์จัดสรรทั่วไปมักให้เราเข้าบ้านทางที่จอดรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านคิดว่ามันแปลก จึงทำรั้วใหม่โดยมีประตูเล็กสำหรับเข้าบ้าน ประตูรั้วเดิมสำหรับรถ และทุบรั้วบางส่วนเพื่อทำเป็นประตูสำหรับที่จอดรถอีก 1 คันที่ด้านข้างของบ้าน

Plan หลังการรีโนเวททาวน์เฮ้าส์ โดยมีค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทประมาณ 2.8 ล้านบาท

          ทาวน์เฮาส์เดิมนั้นอายุ 28 ปี เรียกได้ว่ามีอายุที่มากพอสมควรแล้ว การปรับปรุงส่วนใหญ่จึงเป็นการซ่อมแซมโครงสร้างเดิมที่ทรุดโทรม รวมไปถึงเปลี่ยนระบบสุขาภิบาล และระบบไฟฟ้าใหม่หมดทั้งหลัง มีจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับวีถีชีวิตของเราเอง เน้นการเจาะช่องเปิดให้มากขึ้นเพื่อให้บ้านดูโปร่ง โล่ง ให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้มากๆ และระบายอากาศได้ดีขึ้น และทำพื้นที่สวนข้างตัวบ้าน ให้เป็นพื้นที่จอดรถอีก 1 คัน เพราะปกติจะจอดได้น้อยและใช้การจอดหน้าบ้านแทน ซึ่งคิดว่าเป็นการรบกวนเพื่อนบ้าน

          เมื่อพูดถึงข้อจำกัดของการปรับปรุงต่อเติมบ้าน คุณก้องผู้เป็นสถาปนิกและเจ้าของบ้านก็กล่าวถึงสิ่งที่เจ้าของบ้านรวมถึงผู้ออกแบบหลายคนมักมองข้าม คือเรื่องการต่อเติมที่ไม่ปลอดภัย และการต่อเติมที่ผิดกฎหมาย โดยบ้านหลังนี้ยึดหลักว่าจะต้องปลอดภัย แข็งแรง กล่าวคือการไม่เพิ่มห้อง ไม่ต่อยื่นจากโครงสร้าง พูดง่ายๆ คือการไม่เพิ่มภาระเพิ่มน้ำหนักให้บ้านมากกว่าเดิม ใช้การจัดพื้นที่ การกั้นห้องใหม่ภายในให้เกิดการใช้งานที่พอเพียงกับความต้องการ “เมื่อเราไม่ต่อเติมอาคารเพิ่ม อาคารเราก็จะไม่ผิดต่อกฎหมายหรือรบกวนเพื่อนบ้าน ถึงแม้ว่าบ้านหลังนี้จะเป็นหลังเดียวในหมู่บ้านที่ถูกกฎหมาย แต่เราก็อยากเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับปรุงบ้าน”

ต่อเติมพื้นที่ที่จอดรถเพิ่มขึ้น 1 คัน โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนเสาเข็มสั้น 6 เมตรเพราะตัวรถมีน้ำหนักมาก จึงควรมีเสาเข็มเพื่อลดการทรุดตัวของที่จอดรถนี้ และตั้งเสาเหล็กง่ายๆ มุงด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต หากชายคายื่นไปติดรั้วมาก ควรติดตั้งรางน้ำฝนเพื่อไม่ให้น้ำฝนนั้นระบายไปยังพื้นที่ของเพื่อนบ้าน

ไม่ใช่เพียงเพิ่มหน้าต่าง บางห้องที่มีการเปลี่ยนการใช้งานและจัดพื้นที่ใหม่ บานหน้าต่างเดิมก็อาจไม่เหมาะสม เช่นบานหน้าต่างห้องนี้ เมื่อมีเตียงที่ด้านหนึ่ง ด้านนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าต่างที่หัวเตียงอีกต่อไป

หากเป็นไปได้ งานระบบสุขาภิบาลเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการเจาะพื้นหากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสุขภัณฑ์นั่นเอง หากจะเปลี่ยนแปลง เราใช้การปรับเปลี่ยนผนังเพื่อการใช้งานที่ลงตัวแทน แต่หากต้องมีการเจาะพื้นจริงๆ ก็สามารถทำได้ โดยต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญและพื้นที่เจาะต้องเป็นพื้นคอนกรีตหล่อในที่ พื้นสำเร็จรูปไม่ควรเจาะ โดยต้องมีการรื้อกระเบื้องพื้นออกในบริเวณที่จะเจาะ และทำการซีลปิดรอยต่อของสุขภัณฑ์กับพื้นอย่างดี

เพียงแค่เปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนบานประตู หน้าต่าง บนโครงสร้างเดิม ๆ บ้านก็ดูเหมือนใหม่ทันที

ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
ภาพ:
- อวิรุทธ์ อุรุพงศา, Chalam

แท็กที่เกี่ยวข้อง