รอบรู้เรื่องบ้าน

คติเตือนใจ สร้างบ้านใหม่ ต้องใส่ใจเสาเข็ม

46.6K

12 มกราคม 2567

คติเตือนใจ สร้างบ้านใหม่ ต้องใส่ใจเสาเข็ม

 

“บ้านที่มั่นคง ต้องมีฐานรากที่แข็งแรง” คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นจริงแต่ในแง่นามธรรมเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงฐานของบ้านอย่าง “เสาเข็ม” นั้น ถือว่าสำคัญมากในการสร้างบ้านใหม่"

เสาเข็มคือส่วนที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวบ้าน และกระจายน้ำหนักไปยังชั้นดินใต้อาคาร โดยใช้แรงพยุงตัวที่เกิดจากแรงเสียดทานของดิน กับพื้นที่ผิวรอบเสาเข็ม หรือใช้การถ่ายตรงลงสู่ชั้นดินหรือหินแข็งโดยตรง เพื่อไม่ให้บ้านหรืออาคารทรุดจมลงไปในดิน

เสาเข็มอาจเป็นไม้ คอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็กรูปพรรณ ถ้าเป็นอาคารเล็กก็ใช้เข็มสั้นและจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเป็นอาคารใหญ่ ก็จะต้องเสาเข็มจำนวนมากขึ้น หรือใช้เสาเข็มยาวขึ้นเพื่อถ่ายน้ำหนักลงไปยังชั้นดินได้ลึกขึ้น เพื่อรับน้ำหนักได้มากกว่า เนื่องจากดินชั้นบนมักจะมีความหนาแน่นน้อย จึงสร้างแรงเสียดทานให้กับเสาเข็มได้น้อยกว่าชั้นดินที่อยู่ลึกลงไป และหากเสาเข็มยาวจนถึงระดับชั้นดินหรือหินแข็ง เสาเข็มจะรับน้ำหนักจากอาคารและถ่ายลงสู่ชั้นดินแข็งโดยตรง

การรับและถ่ายน้ำหนักของเสาเข็ม

 

โครงสร้างแบบไหนต้องใช้เสาเข็ม?

นอกเหนือไปจากตัวบ้านแล้ว โครงสร้างบ้านส่วนที่จำเป็นต้องลงเสาเข็ม คือส่วนที่ไม่ต้องการให้ทรุดตัวเร็วเกินไป เช่น พื้นคอนกรีตรอบบ้าน ลานซักล้าง ลานจอดรถ ฯลฯ

ถ้าอยากให้ทรุดตัวช้า ต้องให้วิศวกรออกแบบ ให้ตอกเสาเข็มสั้น รองรับไว้เพื่อให้ทรุดตัว ในระดับใกล้เคียงกันกับตัวบ้าน แต่หากยอมให้พื้นที่นั้นทรุดตัวพร้อมกับดินได้ ก็ไม่จำเป็นต้องลงเสาเข็มได้

กรณี ที่จำเป็นต้องให้วิศวกรคำนวณออกแบบเสาเข็มรองรับไว้ คือพื้นที่ในส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนักมากๆ เช่น บริเวณที่วางแท็งค์น้ำบนดิน, สระว่ายน้ำ หากไม่ลงเสาเข็มรองรับไว้น้ำหนักจำนวนมหาศาล จะส่งผลให้พื้นที่นั้นทรุดลงเร็วกว่าปรกติ

สร้างบ้านใหม่ต้องใช้เสาเข็มแบบไหน ?
ถ้าเป็นบ้านสร้างใหม่ไม่เกิน 2 ชั้น มักจะใช้เสาเข็มคอนกรีตแบบเข็มตอก เพราะประหยัดที่สุด มักใช้เป็นแบบเสาเข็มหน้าตัดรูปตัวไอ (I) ความยาวปานกลาง ระหว่าง 12 – 16 เมตร ซึ่งเข็มระดับนี้ ส่วนใหญ่จะยังคงอาศัยแรงฝืดของดินเป็นตัวรองรับน้ำหนักอยู่

ถ้าเป็น อาคารใหญ่มากขึ้น จะต้องใช้เสาเข็มยาวขึ้น ตั้งแต่ 18 – 24 เมตร ให้ถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดินแข็งโดยตรง แต่ถ้าเป็นพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ ที่ดินมีความหนาแน่นสูง หรือมีชั้นดินแข็งที่อยู่ตื้นมาก วิศวกรอาจจะออกแบบให้เสาเข็ม ตอกลงไปเพียง 6 – 8 เมตร ก็สามารถถ่ายน้ำหนักสู่ชั้นดินแข็งได้เลย

เสาเข็มอีกประเภทที่ใช้ใน บ้านพักอาศัย ทั้งสร้างบ้านใหม่ และงานต่อเติมบ้าน คือ เข็มเจาะ ซึ่งจะเป็นเข็มเจาะระบบเล็กสามารถเคลื่อนย้ายเครื่องมือเข้าไปทำงานในพื้นที่แคบๆ ทำงานเจาะดิน หล่อเข็มได้โดยไม่สร้างแรงกระเทือน กับโครงสร้างอาคาร/ฐานรากใต้ดิน ของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง(เทศบัญญัติในบางพื้นที่กำหนดให้ใช้ระบบเข็มเจาะกรณีที่อาคารที่สร้างใหม่ห่างจากอาคารเดิม/เพื่อนบ้านน้อยกว่า 30 เมตร)

สามารถ ทำเข็มสำหรับอาคารต่อเติมให้รองรับน้ำหนักได้ใกล้เคียงกับอาคารเดิม เข็มที่หล่อจากระบบนี้ มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 30-80 เซ็นติเมตร ส่วนความยาวเจาะได้ลึกถึงระดับ 24 เมตร เลยทีเดียว

 


เสาเข็มหน้าตัดต่างๆ

 

ราคาของเสาเข็ม ?

เข็มตอกจะมีราคาประหยัดกว่าเข็มเจาะถึง 2 – 3 เท่า เช่น ถ้าเข็มตอกราคา 8,000 บาท/ต้น เข็มเจาะจะราคาสูงถึง 20,000 – 25,000 บาท/ต้น เพื่อรับน้ำหนักได้ในระดับเดียวกัน

แต่การเลือกใช้เข็มตอก หรือเข็มเจาะ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ วิศวกรที่จะประสานงาน กับสถาปนิกผู้ออกแบบ ซึ่งจะร่วมกันเปฌนผู้กำหนด เพราะอาจมีหลายๆ ปัจจัย เช่น อาจติดปัญหาเพื่อนบ้านใกล้เคียง หากใช้เข็มเจาะแล้วไปกระเทือนโครงสร้างเพื่อนบ้าน หรือปัญหา ถนน ซอย แคบมากจนไม่สามารถใช้เข็มตอกได้

ดังนั้นการสร้างบ้านใหม่ หรือการต่อเติมบ้าน เรื่องของเสาเข็ม จึงเป็นอีกเรื่องที่ไม่สามารถละเลยได้เช่นเดียวกัน เพราะจะส่งผลถึงความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านในระยะยาว



การตอกเสาเข็ม 


แท็กที่เกี่ยวข้อง