สร้างบ้านใหม่ต้องใช้บริการสถาปนิก/วิศวกร เสมอไปหรือไม่

"การลงทุนสร้างบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้งบประมาณมาก และเจ้าของบ้านต้องอาศัยอยู่ในบ้านนั้นอีกหลายปี การใช้บริการสถาปนิก และวิศวกร มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดทั้งในแง่กฎหมาย และในแง่วิชาชีพ"

          การจะสร้างบ้านแต่ละหลังไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งงบประมาณ ความคิด แรงงาน และระยะเวลาอย่างมาก หลายๆ ท่านที่คิดอยากจะมีบ้านอาจจะมีคำถามว่า ในการสร้างบ้านจำเป็นที่จะต้องใช้บริการสถาปนิก และ/หรือ วิศวกร เสมอไปหรือไม่

          หากว่ากันตามกฎหมาย การจะก่อสร้างอาคารใดๆ จำเป็นที่จะต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานเขตเขต หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยอาคารที่จะต้องมีสถาปนิกและวิศวกรลงนามรับรองแบบ เรียกว่าอาคารควบคุม แต่ไม่ใช่ทุกอาคารจะเป็นอาคารควบคุม โดยพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม บัญญัติไว้ว่า งานออกแบบเป็นงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ยกเว้นอาคารที่พักอาศัยส่วนบุคคลพื้นที่รวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร หรืออาคารเพื่อการเกษตรพื้นที่ไม่เกิน 400 ตารางเมตร ส่วนกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพวิศวกรรม บัญญัติไว้ว่า อาคารที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม ต้องมีวิศวกรผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้าง ต้องมีลักษณะคือ

          1. เป็นอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้น ขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคาร ชั้นใดชั้นหนึ่งสูงตั้งแต่ 4 เมตร หรือมีช่วงคานตั้งแต่ 5 เมตร ขึ้นไป
          2. อาคารสาธารณะทุกชนิด
          3. โครงสร้างใต้ดินที่มีความลึกตั้งแต่ 1.5 เมตร

ภาพ: อาคารก่อสร้างต่างๆ ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างเสมอ

          ดังนั้นแล้ว อาคารที่ไม่เข้าข่ายดังกล่าว ไม่เป็นอาคารควบคุม ไม่จำเป็นต้องมีสถาปนิกและวิศวกรลงนามรับรองแบบและควบคุมงานก่อสร้าง เช่นการก่อสร้างบ้านหลังเล็กๆ พื้นที่ไม่เกิน 150 ตารางเมตร สูง 2 ชั้น ช่วงคานไม่ถึง 5 เมตร เจ้าของบ้านสามารถสร้างเอง หรือจ้างผู้รับเหมาสร้าง โดยเจ้าของบ้านลงนามเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างเองได้ โดยก่อนการก่อสร้างต้องยื่นขออนุญาตโดยแนบแผนผังบริเวณแสดงแนวที่ดิน แปลนพื้นชั้นล่าง และที่ตั้งของอาคารโดยสังเขปเท่านั้น ในขณะที่ถ้าเป็นอาคารควบคุม ต้องยื่นแบบแปลน รายการประกอบแบบ และรายการคำนวณ ที่มีการลงนามรับรองโดยสถาปนิกและวิศวกรเท่านั้น

ภาพ: บ้านที่ผ่านการออกแบบจากสถาปนิกและวิศวกรและยื่นขออนุญาตสร้าง

          แบบบ้านฟรีต่างๆ ที่มีแจกกันทั่วไป หากมีพื้นที่ของบ้านเกิน 150 ตารางเมตร ก็ต้องว่าจ้างให้สถาปนิกและวิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพทำการตรวจสอบ และทำเอกสารเพิ่มเติม เช่น แบบโครงสร้างพร้อมรายการคำนวณ แบบระบบสุขาภิบาล แบบระบบไฟฟ้า และรายการประกอบแบบ แบบพร้อมลงนามเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้าง

          นอกจากความสำคัญของสถาปนิกและวิศวกรในการลงนามรับรองแบบแล้ว หากไม่พิจารณาถึงประเด็นทางกฎหมายที่อาคารควบคุมจะต้องมีสถาปนิก และวิศวกรลงนามรับรองแบบ การใช้บริการสถาปนิก และวิศวกร ซึ่งเป็นวิชาชีพควบคุม เช่นเดียวกับ แพทย์ หรือทนาย ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ก็ยังคงมีความสำคัญ

ภาพ: บ้านที่ผ่านการออกแบบจากสถาปนิกและวิศวกรเพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้านด้านฟังก์ชั่นพื้นที่ใช้สอย ความมั่นคงแข็งแรง และความสวยงาม

          การว่าจ้างวิศวกรในการออกแบบก็เพื่อ ความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยของตัวอาคาร ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของตัวท่านเอง ส่วนการว่าจ้างสถาปนิกในการออกแบบ ก็เพื่อให้ได้บ้านที่อยู่สบาย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีความเฉพาะในแต่ละที่ดิน และเพื่อให้บ้านมีเอกลักษณ์ สอดคล้องกับวิถีชีวิตเฉพาะตัวของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

ภาพ: บ้านพักตากอากาศที่มีการออกแบบเฉพาะ

ภาพ: บ้านโครงสร้างเหล็กที่ผ่านการออกแบบจากสถาปนิกและวิศวกร
สถานที่: บ้านสวนมุก

          การว่าจ้างผู้รับเหมา โดยไม่จ้างสถาปนิก และ/หรือวิศวกร และจะควบคุมงานก่อสร้างเองนั้นมีความเสี่ยงอยู่หลายประการ เช่น กรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือบ้านอาจจะไม่มีความแข็งแรงปลอดภัย จากการที่ผู้รับเหมาขาดความรู้และประสบการณ์ รวมถึงอาจจะมีการหมกเม็ดทำงานไม่เรียบร้อยสมบูรณ์โดยที่เจ้าของบ้านไม่สามารถตรวจสอบได้เอง หรือกรณีไม่ร้ายแรงแต่อาจจะเป็นปัญหาจุกจิกในระยะยาว เช่น น้ำรั่ว บ้านร้าว ผนังฉาบไม่ตรง และบ้านขาดรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ต้องมีสถาปนิกออกแบบ เช่น แนวกระเบื้อง ขอบ มุม การเชื่อมต่อกันของวัสดุต่างๆ ให้มีทั้งความงาม และประโยชน์ใช้สอย

          นอกจากนี้การที่เอาแบบบ้านให้ผู้รับเหมาคิดราคา ท่านจะไม่รู้เลยว่าผู้รับเหมาเสนอราคาแพงเกินจริงไปมากเท่าใด แต่หากมีการว่าจ้างสถาปนิกและวิศวกรออกแบบก่อนแล้ว ในขั้นตอนการทำแบบก่อสร้างจะมีการคิดราคากลางของค่าก่อสร้างอย่างละเอียด (BOQ) เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถนำไปเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้รับเหมารายต่างๆ เสนอมา ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกผู้รับเหมา ซึ่งบางครั้งส่วนต่างที่โดนผู้รับเหมาโก่งราคาอาจจะมากกว่าค่าจ้างสถาปนิกและวิศวกรด้วยซ้ำ

          การว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่คิดจะสร้างบ้าน เนื่องจากสามารถคุมงบประมาณได้แน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และมีผลงานที่ดี บริษัทประเภทนี้จะมีทั้งวิศวกร และสถาปนิกอยู่ในบริษัท สามารถให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้างครบวงจร แต่แบบบ้านจะมีให้เลือกจำกัด โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้บ้าง จะไม่เหมือนกับการจ้างสถาปนิกออกแบบที่จะมีความอิสระมากกว่า

          การสร้างบ้านเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ในช่วงชีวิตหนึ่งเราอาจจะได้สร้างบ้านไม่กี่ครั้ง และยังต้องอยู่ในบ้านนั้นไปอีกหลายปี หรืออาจจะทั้งชีวิต อีกทั้งอาจต้องใช้เงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุน หรือกู้เงินยาวนาน 20-30 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่จะใช้บริการสถาปนิก และวิศวกร ผู้มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการออกแบบก่อสร้างบ้านมากกว่าเรา เป็นผู้ช่วยจัดการดูแลเรื่องทุกอย่างให้ราบรื่น เพื่อให้ได้บ้านที่แข็งแรง ปลอดภัย อยู่สบาย สมดังที่ตั้งใจไว้

ชวนนท์ โฆษกิจจาเลิศ
การศึกษา: สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: บ้านโครงสร้างเหล็กที่ผ่านการออกแบบจากสถาปนิกและวิศวกรเพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้าน
สถานที่: Tinman House



17K   Favorite   Print   Share  
            Change Password Change Password link-social signin-popupnew downloadplan-popupnew