"แนวทางการรีโนเวทบ้าน 6 ขั้นตอน สำหรับหลายๆ คนที่คิดว่าจะปรับปรุงบ้านไม่ว่าจะเป็นงานปรับปรุงบางส่วน หรือปรับปรุงบ้านทั้งหลัง"     

          บ้านหลังเก่าที่เราอยู่อาศัยมาหลายสิบปี ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งสภาพบ้านที่ทรุดโทรมลง ประกอบกับความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่บ้านมือสองในเมืองที่หลายคนเลือกอยู่อาศัยแทนการซื้อบ้านหลังใหม่ตามชานเมือง ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำการรีโนเวทบ้านหลังเก่าที่ว่าให้ตรงกับความต้องการใหม่ของเรา ทั้งนี้เจ้าของบ้านสามารถอาศัยแนวทางการรีโนเวทบ้าน 6 ขั้นตอนต่อไปนี้ในการเตรียมตัวก่อนลงมือ

          1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงบ้าน เพื่อใช้ในการประเมินงบประมาณเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น
          - ปรับปรุงบ้านทั้งหลัง เนื่องจากสภาพเก่าทรุดโทรมมาก หรือมีความเสียหายหลายส่วน

ภาพ: สภาพเดิมทรุดโทรมและเสียหายมากจึงทำการปรับปรุงใหม่ทั้งหลัง
ขอบคุณภาพ: คุณภาณุ เอี่ยมต่อม

          - จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยใหม่ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น การกั้นห้องโฮมเธียเตอร์ในพื้นที่ห้องนั่งเล่น

          - ซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหาย โดยอาจถือโอกาสปรับปรุงสภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น ห้องน้ำรั่วเนื่องจากระบบท่อมีปัญหา จึงปรับโฉมห้องน้ำใหม่ทั้งห้อง หรือพื้นดาดฟ้ารั่ว จึงปรับเป็นสวนดาดฟ้าสำหรับพักผ่อน

  

ภาพ: ห้องครัวมีบางส่วนที่เสียหาย จึงถือโอกาสปรับโฉมใหม่ให้สวยและโมเดิร์นขึ้น

ขอบคุณภาพ: คุณอวิรุทธ์ อุรุพงศา, Chalam

          - ปรับปรุงใหม่ให้ใช้งานดีขึ้น ถึงแม้ไม่ได้มีอะไรเสียหาย แต่ปรับเพื่อแก้ปัญหาการใช้งาน เช่น เพิ่มแผงกันแดดที่หน้าต่างห้องทำงานซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่แดดส่องร้อนแรง หรือติดตั้งระบบผนังฉนวนกันเสียงและเปลี่ยนหน้าต่างชุดใหม่ในห้องนอนซึ่งมีเสียงรบกวนจากถนนใหญ่ที่มีรถวิ่งผ่าน

 

ภาพ: เจาะช่องแสงเพิ่ม ลดความรู้สึกทึบตัน และช่วยให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น
ขอบคุณภาพ: คุณอวิรุทธ์ อุรุพงศา, Chalam

          - ปรับโฉมใหม่ตามสไตล์ที่ชอบ เช่น แต่งห้องใหม่ให้เป็นสไตล์ลอฟท์โดยการฉาบผนังใหม่ให้เป็นปูนเปลือยแบบดิบๆ ด้วยสกิมโค้ท และรื้อฝ้าเพดานออกเพื่อโชว์ท่องานระบบต่างๆ

 

ภาพ: รีโนเวทส่วนทานข้าวใหม่ ให้โปร่ง โล่ง และโมเดิร์น

ขอบคุณภาพ: คุณอวิรุทธ์ อุรุพงศา, Chalam

          2. รวบรวมข้อมูลและรูปแบบที่ชอบ การตกแต่งห้องหรือพื้นที่ที่ประทับใจ รวมถึงวัสดุที่ใช้ ซึ่งอาจพบเห็นได้จากสื่อต่างๆ หรือสถานที่จริง ตลอดจนวิธีการในการปรับปรุงซ่อมแซมแต่ละส่วน ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง หรือเป็นข้อมูลในการออกแบบของสถาปนิกหรือมัณฑนากร และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

          3. ตรวจสอบสภาพพื้นที่และกำหนดแนวทางในการปรับปรุง ควรตรวจสอบส่วนต่างๆ ของบ้าน หรือพื้นที่ที่กำลังจะปรับปรุงว่ามีส่วนใดยังใช้งานได้ดี หรือมีส่วนใดที่เสียหายต้องซ่อมแซมทั้งก่อนและขณะลงมือปรับปรุงบ้าน โดยการทำ Check List ในแต่ละห้องหรือแต่ละพื้นที่ตามประเภทงานต่างๆ แบ่งเป็น งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม (วัสดุตกแต่งและปิดผิว) พื้นที่รอบบ้าน งานระบบไฟฟ้า งานระบบประปาและสุขาภิบาล รวมถึงระบบปรับอากาศ (ถ้ามี) ตลอดจนกำหนดแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมในแต่ละงาน โดยอาจปรึกษาวิศวกร สถาปนิก หรือผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม

 

ภาพ: บ้านทรุด และผนังช่วงล่างมีความชื้น

ภาพ: ตัวอย่างสภาพใต้ท้องพื้นที่คอนกรีตแตกกะเทาะ เนื่องจากมีน้ำรั่วซึมตามรอยร้าวของพื้น

          ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการปรับปรุงห้องน้ำที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี สำหรับงานโครงสร้าง ควรตรวจสอบสภาพพื้นห้องน้ำว่ามีความเสียหายจากการรั่วซึมหรือไม่ มีแนวทางซ่อมแซมอย่างไร งานสถาปัตยกรรม ควรตรวจสอบสภาพกระเบื้องปูพื้นและผนัง สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนใหม่ตามแนวการตกแต่งที่ชอบไปพร้อมๆ กับการทำระบบกันซึมใหม่ งานระบบประปาและสุขาภิบาล อาจถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนท่อประปาใหม่ พร้อมกับการเดินแนวท่อตามการจัดวางผังห้องน้ำใหม่ เป็นต้น

          อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ "แนวทางการตรวจบ้านเก่าก่อนรีโนเวท"

          4. สรุปเนื้องานที่ต้องการปรับปรุง โดยพิจารณางานปรับปรุงซ่อมแซมต่างๆ จาก Check List ที่ทำไว้ และสรุปเนื้องานที่ต้องการปรับปรุงตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ตั้งไว้

          5. จัดเตรียมงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

          ส่วนที่ 1 ค่าออกแบบโดยสถาปนิก มัณฑนากร วิศวกรโครงสร้าง และวิศวกรงานระบบต่างๆ

          ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ได้แก่ ค่าวัสดุและค่าแรงก่อสร้าง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าดำเนินการต่าง ๆ ระหว่างการก่อสร้าง

          ส่วนที่ 3 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโกดังเก็บของ ค่าเช่าบ้านอยู่ชั่วคราว ค่าดำเนินการขออนุญาตปรับปรุงบ้านกับหน่วยงานราชการ (สำหรับกรณีที่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาต) ค่าบริการที่ปรึกษางานก่อสร้าง ฯลฯ

ทั้งนี้เราอาจใช้งบประมาณเพียงบางส่วนจากทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมา ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณงาน และขอบเขตในการปรับปรุงบ้าน นอกจากนี้ควรเผื่องบประมาณที่อาจจะบานปลายไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีงบประมาณจำกัด ควรวางแผนลำดับความสำคัญในการปรับปรุงบ้านเป็นส่วนๆ ตามช่วงเวลาต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับงบประมาณในการปรับปรุง

          6. เลือกวิธี RENOVATE บ้าน หากเป็นการรีโนเวทบ้านทั้งหลัง หรือเป็นการต่อเติมปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาผู้ออกแบบหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถเลือกได้ 2 วิธีคือ

          Design-Bid-Built เป็นลักษณะที่ผู้ออกแบบและผู้รับเหมาแยกกันคนละราย เจ้าของบ้านสามารถตรวจสอบและปรับปรุงแบบให้ตรงตามความต้องการได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ก่อนการดำเนินการก่อสร้างโดยผู้รับเหมา นอกจากนี้ผู้ออกแบบจะมีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาของเจ้าของบ้าน ตลอดจนร่วมตรวจคุณภาพงานและวิธีแก้ปัญหาของผู้รับเหมาในระหว่างก่อสร้างด้วย ดังนั้น นอกเหนือจากประสบการณ์ด้านการออกแบบแล้ว ประสบการณ์ด้านการควบคุมงานและประสานงานก่อสร้างของผู้ออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจส่งผลต่อความล่าช้าและงบประมาณในการปรับปรุงบ้านได้

 

ภาพ: ผู้ออกแบบและผู้รับเหมา เป็นคนละรายกัน

          Design & Build เป็นลักษณะที่ผู้ออกแบบและผู้รับเหมาคือรายเดียวกัน หรือที่เรียกทั่วไปว่า “Turn Key” เป็นวิธีที่สะดวกต่อเจ้าของบ้าน เพราะจะติดต่อกับผู้ประสานงานรายเดียวตั้งแต่เริ่มออกแบบจนปรับปรุงบ้านแล้วเสร็จ ซึ่งควรกำหนดขอบเขตงานและรายละเอียดการก่อสร้างโดยระบุในสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปรับปรุง เนื่องจากไม่มีคนกลางในการประสานงาน อย่างไรก็ตาม การจ้าง Turn Key เป็นวิธีที่ช่วยควบคุมระยะเวลาและงบประมาณในการก่อสร้างได้ดี

  

ภาพ: TURN KEY

          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนสำหรับการรีโนเวทบ้านทั้งหลัง เจ้าของบ้านสามารถว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานต่างหาก เพื่อให้การก่อสร้างปรับปรุงบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น ตามระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนดไว้

          สำหรับงานปรับปรุงบางส่วน หรือซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ เช่น รื้อหลังคามุงใหม่ (คลิกเพื่ออ่านบทความ "เปลี่ยนลุคให้บ้าน ด้วยวัสดุมุงหลังคาใหม่") ปรับปรุงห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ (คลิกเพื่ออ่านบทความ "สนุกกับเรื่องบ้าน : ปรับปรุงห้องน้ำผู้สูงอายุ") ซ่อมแซมดาดฟ้ารั่วซึม (คลิกเพื่ออ่านบทความ "สนุกกับเรื่องบ้าน : แก้ กัน ปัญหาดาดฟ้ารั่วซึม") ฯลฯ ควรใช้บริการช่างเฉพาะทางเป็นส่วนๆ ซึ่งอาจจะมีค่าบริการค่อนข้างสูงเมื่อเทียบต่อขนาดพื้นที่ ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของผู้รับเหมาแต่ละรายโดยละเอียด เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพดีคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้

ภาพ: ตัวอย่างห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ

          อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านอาจจะลองพิจารณาของเก่าที่มีอยู่ โดยนำมาปรับปรุงหรือประยุกต์ใช้ใหม่ เพื่อคงเรื่องราวดั้งเดิมของบ้านเก่าไว้บางส่วน เช่น บานประตูไม้จริงที่ยังมีสภาพดี หากนำมาขัดลอกทำสีใหม่ก็นำไปใช้ได้เช่นเคย หรือประตูหน้าต่างเก่าเสียหาย ก็สามารถนำมาดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ควรพิจารณาขายของเก่าบางอย่างที่สามารถขายได้ เช่น โครงเหล็ก ประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม ฯลฯ เพื่อช่วยลดงบประมาณในการปรับปรุงบ้านอีกทางหนึ่งด้วย



1.1K   Favorite   Print   Share  
            Change Password Change Password link-social signin-popupnew downloadplan-popupnew