เตรียมตัวให้ดีเรื่องที่จอดรถในบ้าน
เคล็ดลับน่ารู้

เตรียมตัวให้ดีเรื่องที่จอดรถในบ้าน

72.6K

20 กุมภาพันธ์ 2567

เตรียมตัวให้ดีเรื่องที่จอดรถในบ้าน

"ด้วยจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนนในปัจจุบัน บ่งบอกได้ว่าคนนิยมขับรถส่วนตัวกันมากขึ้น ที่จอดรถจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เกือบทุกบ้านจำเป็นต้องมี การออกแบบโครงสร้างและวัสดุที่ใช้สำหรับที่จอดรถจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ควรนำมาพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการใช้งานประจำวันและน้ำหนักของรถที่ถือว่ามากทีเดียว"

ขนาดมาตรฐานที่จอดรถ

ขนาดพื้นที่ที่จอดรถมาตรฐานสำหรับรถ 1 คัน ควรมีขนาด 2.40 x 5.00 ม. แต่ควรเผื่อพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าไว้ 0.70 ม. และ 0.40 ม. ตามลำดับ เพื่อให้สะดวกต่อการเปิดประตู ขนของเข้า-ออก และสำหรับที่จอดรถ 2 คันติดกัน ระยะที่เผื่ออาจจะน้อยกว่าตามความเหมาะสม (ตามภาพประกอบ) ส่วนระยะความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานควรอยู่ที่ประมาณ 2.50เมตรเป็นอย่างน้อย แต่ไม่ควรสูงมากเกินไปจนไม่สามารถป้องกันแสงแดดแนวทแยงยามเช้าและบ่ายแก่ ๆ ได้



ขนาดมาตรฐานทางลาด

นอกจากพื้นที่สำหรับจอดรถแล้ว ทางลาดจากถนนขึ้นที่จอดรถก็สำคัญเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว อัตราส่วนความชันทางลาดกำหนดไว้ไม่เกิน 1:8 เช่น หากมีความสูงของพื้นต่างจากถนน 30 ซม. ต้องมีความยาวของทางลาดอยู่ที่ 2.40 ม. หรือหากเป็นรถยกสูง สามารถลดหย่อนระยะลงมาที่อัตราส่วน 1:7 ได้ ระยะทางลาดที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันท้องรถให้ไม่ขูดกับพื้นและทางลาดนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ทางลาดสามารถเป็นพื้นที่จอดรถไปด้วยในตัว หรือออกแบบให้มีทางลาด 2 ระดับในกรณีที่มีพื้นที่จำกัด



โครงสร้างที่โรงจอดรถ

โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักของรถเก๋งจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 1,500 กก. ต่อคัน และสำหรับรถกระบะจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 กก. ต่อคัน โครงสร้างที่จอดรถจึงมักเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนดิน กระจายน้ำหนักเฉลี่ยให้ดินรับน้ำหนักเท่า ๆ กัน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ประหยัดค่าก่อสร้าง แต่ปัญหาที่ตามมาคือการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถซึ่งทรุดตัวตามดินแตกต่างจากโครงสร้างบ้านซึ่งวางอยู่บนเสาเข็มที่มีชั้นดินแข็งรองรับจึงมีอัตราการทรุดตัวน้อยหรือแทบจะไม่ทรุดตัว นอกจากนี้หากที่จอดรถมีองค์ประกอบอื่นที่เป็นการเพิ่มน้ำหนัก เช่น หลังคามุงกระเบื้อง ก็จะยิ่งเพิ่มอัตราการทรุดมากขึ้น ดังนั้น กระบวนการบดอัดดินให้แน่นและสม่ำเสมอทั่วกันจะช่วยลดอัตราการทรุดตัวได้ หรือหากมีงบประมาณเพียงพอ ควรพิจารณาใช้โครงสร้างรองรับที่แข็งแรง โดยการลงเสาเข็ม ทำฐานราก คาน พื้นในลักษณะเดียวกับโครงสร้างบ้านได้ก็จะหมดปัญหาเรื่องการทรุดตัว โดยปรึกษาสถาปนิกและวิศวกรเพื่อให้ทำการออกแบบอย่างเหมาะสม