แก้ปัญหาน้ำรั่วซึมที่พื้นและผนัง
รอบรู้เรื่องบ้าน

แก้ปัญหาน้ำรั่วซึมที่พื้นและผนัง

61.7K

12 มกราคม 2567

แก้ปัญหาน้ำรั่วซึมที่พื้นและผนัง

"แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมที่พื้นและผนังของบ้าน โดยพิจารณาจากสาเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้น"

       ปัญหาน้ำซึมตามพื้นหรือผนังบ้านเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยครั้ง ซึ่งนอกจากจะสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อยู่อาศัยแล้ว หลายครั้งที่มักจะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาตั้งแต่พื้นหรือผนังเกิดความชื้นจนเชื้อราหรือตะไคร่ขึ้น สีทาบ้านลอกล่อน วัสดุกรุผิวโป่งพองหรือหลุดร่วง ไปจนถึงโครงสร้างบ้านได้รับความเสียหายจากการที่เหล็กเสริมในคอนกรีตเป็นสนิม ปัญหาน้ำซึมดังกล่าวมีที่มาจากทั้งภายนอกและภายในบ้าน โดยมีสาเหตุและแนวทางการแก้ไขต่างกันไป

ภาพ: ความชื้นสะสมในคานจนเหล็กเสริมขึ้นสนิม เกิดปัญหาสีบวมพองและคอนกรีตแตกกะเทาะ

น้ำซึมที่ผนังหรือพื้นในช่วงฝนตก

       หากเป็นน้ำที่มาจากน้ำฝนโดยตรง มักเกิดจากผนังภายนอกมีรอยแตกร้าวของปูนฉาบ ซึ่งอาจเกิดจากการแตกร้าวที่ผิวปูนฉาบโดยทั่วไป หรือเกิดจากการเจาะยึดเพื่อติดตั้งโครงเหล็กต่าง ๆ เช่น หลังคากันสาด ระแนงบังแดด ที่วางคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศ น้ำจึงแทรกซึมผ่านผนังจนทำให้สีทาผนังภายในบวมพอง หรือบางกรณีน้ำแทรกตัวในผนังและซึมออกที่พื้นก็เป็นได้เช่นกัน การแก้ไขควรฉาบซ่อมแซมรอยแตกร้าวที่ผนังภายนอกก่อน ด้วยปูนฉาบซ่อมอเนกประสงค์แล้วทาสีภายนอกทับ จากนั้นจึงลอกสีทาผนังภายในที่บวมพองออกก่อนทาสีภายในใหม่ (การทาสีควรทำตามขั้นตอนที่ผู้ผลิตกำหนด) และหากวัสดุปูพื้นหลุดล่อนควรรื้อออกและติดตั้งใหม่

ภาพ: สีทาผนังภายในบวมพองเนื่องจากผนังภายนอกมีรอยแตกร้าว

       นอกจากนี้หากมีช่องว่างระหว่างวงกบประตู-หน้าต่างกับผนัง ก็ทำให้น้ำผ่านเข้ามาภายในบ้านได้ การแก้ไขขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุวงกบ เช่น วงกบอะลูมิเนียมควรลอกซิลิโคนเดิมออกให้หมด ทำความสะอาดแล้วจึงยาแนวด้วยซิลิโคนใหม่ วงกบไม้ถ้ายังอยู่ในสภาพดีแต่แยกตัวจากผนังโดยรอบ ให้ทำความสะอาดและอุดช่องว่างโดยรอบด้วยซิลิโคน หรือกาวโพลียูรีเทน (กาวพียู/PU) อีกสาเหตุของปัญหาน้ำรั่วซึมจากน้ำฝนคือท่อระบายน้ำจากหลังคาหรือระเบียงที่ซ่อนในผนังบ้านรั่วซึม ซึ่งอาจทำให้ผนังหรือพื้นมีรอยช้ำน้ำ หรือสีบวมที่ผนังได้เช่นกัน การแก้ไขควรซ่อมท่อระบายน้ำที่รั่วซึมให้เรียบร้อย โดยผ่านทางช่องเซอร์วิสภายในบ้าน (ถ้าไม่มีช่องเซอร์วิสจำเป็นต้องรื้อฝ้าเพดานหรือทุบผนังในบริเวณที่เกิดปัญหารั่วซึม) แล้วจึงซ่อมแซมผนังหรือพื้นที่เสียหาย

ภาพ: น้ำฝนรั่วซึมผ่านรอยต่อระหว่างวงกบหน้าต่างกับผนังจนสีบวม

       ช่วงฝนตกต่อเนื่องยังมีปัญหาน้ำซึมที่เกิดจากน้ำใต้ดินด้วย โดยเฉพาะกรณีตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ซึ่งมักอยู่ต่ำกว่าระดับถนนสาธารณะ และมีรูปแบบโครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนดินแยกชิ้นส่วนโครงสร้างกับเสาและคานที่รับผนัง น้ำจึงสามารถซึมผ่านรอยต่อระหว่างแผ่นพื้นกับคานและผนังได้ แนวทางแก้ไขขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ในเบื้องต้นเพื่อชะลอน้ำซึมขึ้นมาอาจอุดช่องว่างขนาดเล็กด้วยกาวซิลิโคน กาวโพลียูรีเทน (กาวพียู/PU) หรือใช้โฟมโพลียูรีเทนสำหรับช่องว่างที่มีขนาดกว้าง ทั้งนี้หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนส่งผลต่อการอยู่อาศัย อาจพิจารณายกระดับพื้นบ้านชั้นล่างให้สูงขึ้น โดยการเทคอนกรีตทับพื้นเดิม (กรณีที่เป็นพื้นคอนกรีตวางบนดินเท่านั้น) หรือเสริมคานและติดตั้งระบบพื้นโครงเบาที่ประกอบด้วยตงเหล็กและแผ่นซีเมนต์บอร์ด (ไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือไม้อัดซีเมนต์) โดยคำนึงถึงระยะความสูงจากพื้นใหม่ถึงฝ้าเพดานเป็นสำคัญ

ภาพ: น้ำใต้ดินซึมขึ้นมาที่พื้นภายในบ้าน

       น้ำซึมที่ผนังหรือพื้นถึงแม้ฝนไม่ตก

       หากน้ำซึมเข้าบ้านทั้ง ๆ ที่ฝนไม่ได้ตก หรือไม่ได้อยู่ในช่วงหน้าฝน จะเป็นปัญหาจากน้ำภายในอาคารไม่ว่าจะเป็นน้ำจากท่อประปารั่ว หรือน้ำจากท่อระบายน้ำรั่ว ซึ่งมักจะเกิดในจุดที่ใกล้กับท่อเหล่านั้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ลานซักล้าง หรืออาจเป็นพื้นที่ทางผ่านท่อประปาและท่อระบายน้ำ ทั้งนี้หากเป็นท่อประปารั่วสามารถสังเกตได้จากมิเตอร์น้ำว่าหมุนหรือไม่ทั้ง ๆ ที่ปิดน้ำทุกจุดแล้ว หากหมุนแสดงว่ามีจุดที่น้ำรั่ว แต่หากเป็นท่อระบายน้ำรั่วต้องอาศัยพิจารณาจากแบบระบบสุขาภิบาลของบ้าน หรือคาดเดาเส้นทางการเดินท่อระบายน้ำที่มีอยู่ เมื่อหาตำแหน่งท่อที่เกิดปัญหารั่วพบแล้วให้ทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อย โดยหากเป็นกรณีที่จำเป็นต้องทุบสกัดพื้นหรือผนังเพื่อซ่อมแซม อาจพิจารณาเดินท่อชุดใหม่ทดแทน

ภาพ: คราบน้ำหรืออาการช้ำน้ำที่ผนังภายนอก เนื่องจากท่อประปารั่วซึม

       ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดปัญหารั่วซึมจนโครงสร้างพื้นหรือคานได้รับความเสียหาย เช่น คอนกรีตกะเทาะจนเห็นเหล็กเส้นที่เป็นสนิม ควรรีบซ่อมแซมตามลักษณะความเสียหาย โดยในกรณีที่เป็นสนิมผิวให้ขัดสนิมด้วยกระดาษทรายและทาน้ำยาแปลงสนิม (Rust Converter) ก่อนฉาบหรือหล่อคอนกรีตสำหรับงานซ่อมแซม (Non-Shrink Grout) แต่หากเป็นสนิมขุมที่กินเนื้อเหล็กควรซ่อมแซมภายใต้การควบคุมของวิศวกรผู้ชำนาญเท่านั้น

ภาพ: ท้องพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความชื้นสะสมจากน้ำฝนจนทำให้เหล็กเสริมเป็นสนิมและคอนกรีตแตกกะเทาะ

       โดยสรุปแล้วปัญหาพื้นหรือผนังมีน้ำซึมสามารถเกิดได้จาก น้ำภายนอกอาคาร คือ น้ำฝน และน้ำใต้ดิน และน้ำภายในอาคาร คือ ท่อประปา และท่อน้ำเสีย การแก้ไขต้องทำการแก้ที่สาเหตุของปัญหาก่อนที่จะซ่อมแซมพื้นหรือผนังที่ได้รับความเสียหาย โดยจะต้องทำการหาจุดที่รั่วหรือน้ำซึมเข้ามาให้พบแล้วทำการซ่อมแซม อย่างไรก็ตามหากน้ำสร้างความเสียหายกับโครงสร้างอาคาร เช่น ทำให้พื้น เสา หรือคาน แตกร้าวจนเห็นเหล็กเส้นเป็นสนิม ต้องปรึกษาวิศวกรโครงสร้างให้ทำการแก้ไขเพื่อความปลอดภัย

       ชวนนท์ โฆษกิจจาเลิศ
       การศึกษา: สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แท็กที่เกี่ยวข้อง