เคล็ดลับน่ารู้

ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไร ไม่ให้ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

36.3K

12 มกราคม 2567

ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไร ไม่ให้ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไร ไม่ให้ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

        ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายนตรงกับช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ซึ่งกินระยะเวลาประมาณครึ่งปีเลยครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านของเราจึงมักเป็นปัญหาที่มากับฝน การออกแบบบ้านพักอาศัยในไทย สถาปนิกจึงมักให้ความสำคัญกับฤดูฝนพอๆ กับฤดูร้อน โดยนิยมออกแบบให้หลังคาบ้านมีความลาดชันสูงเพื่อระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับออกแบบให้มีระบบรางน้ำฝน เพื่อควบคุมทิศทางการระบายน้ำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม      

        แต่ปัญหาที่มากับฝนอาจไม่ได้มีเพียงปัญหาภายในบ้านเท่านั้นครับ โดยเฉพาะบ้านในชุมชนเมืองที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น หรือในโครงการจัดสรรที่มีที่ดินไม่มากนัก เจ้าของบ้านมักต่อเติมพื้นที่ใช้สอยด้านข้างหรือด้านหลังของตัวบ้าน จนมีระยะร่นเกินที่กฎหมายกำหนด และอาจลืมคิดไปว่าจะต้องเผื่อชายคาและรางน้ำฝนไว้ จนเป็นสาเหตุให้น้ำไหลกระเด็นไปยังบ้านข้างเคียง ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้านได้

  

 

ปัญหาที่มากับการติดตั้งรางน้ำฝนและวิธีแก้ไข

  • รางน้ำฝนยื่นเข้ามาในเขตรั้วเพื่อนบ้าน

        ปัญหาคลาสสิคที่หลายบ้านพบเจอเหมือน ๆ กัน คือ การที่บ้านข้าง ๆ ทำชายคาใกล้กับรั้วหรือต่อเติมครัวชิดกับกำแพง และติดตั้งรางน้ำฝนยื่นเลยออกไปในขอบเขตของเพื่อนบ้าน ทำให้น้ำที่ล้นจากรางกระเด็นเข้าไปในบ้านข้าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ยาก  เพียงแต่ต้องหาระยะในการติดตั้งที่ถูกต้อง ทั้งในด้านกฎหมายและในด้านเทคนิคการติดตั้ง

        ตามข้อกฎหมายการสร้างบ้านต้องระวังเรื่องการระบายน้ำฝน เพื่อไม่ให้การระบายน้ำกระทบต่อที่ดินข้างเคียง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ.2538)ฯ ข้อ 2 ดังนี้  “ อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีการระบายน้ำฝนออกจากอาคารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือเกิดน้ำไหลนองไปยังที่ดินอื่นที่มีเขตติดต่อกับเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารนั้น” ประกอบกับกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อ 50 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543)ฯ “กำหนดให้ แนวผนังอาคารต้องร่นจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 0.50 ม. และเป็นผนังทึบ”

  

  

        จากข้อกำหนดนี้จะเห็นได้ว่าผนังบ้านต้องไม่อยู่ชิดติดรั้ว เพื่อไม่ให้รางน้ำฝนที่ติดตั้งต่อออกมาจากเชิงชายยื่นล้ำออกไปบ้านข้างเคียง สำหรับพื้นที่ในการติดตั้งต้องคิดเผื่อระยะชายคา ระยะตะขอแขวนราง  (สำหรับการติดตั้งรางไวนิล)  และความกว้างของรางน้ำฝน ซึ่งจะมีตั้งแต่ความกว้าง 4 นิ้ว ถึง 6.5 นิ้วเอาไว้ด้วย โดยรวมหากติดตั้งรางน้ำฝนกับหลังคาที่มีการติดตั้งเชิงชายเรียบร้อยแล้ว ระยะยื่นปลายกระเบื้องหลังคารางน้ำฝนจะใช้พื้นที่ประมาณ 15-20 ซม. ยกเว้นกรณีทำรางให้มีความกว้างพิเศษหรือรางคอนกรีตที่กำหนดขนาดเอง 

  • บ้านติดกัน ติดตั้งรางน้ำฝนสูงกว่าและเหลื่อมไปบ้านข้าง ๆ

        กรณีที่บ้านอยู่ติดกัน สร้างหันหลังชนกัน เช่น ทาวน์เฮาส์หรือบ้านที่มีการต่อเติมภายหลัง มักมีการต่อเติมหลังบ้านจนชิดเขตพื้นที่แล้วสร้างรางน้ำฝนติดกัน ทำให้มีช่องว่างสำหรับน้ำเข้าระหว่างรอยต่อหลังคา บางหลังเลือกติดตั้งเหลื่อมสูงกว่าเพื่อไม่ให้รางชนกัน แต่กลับส่งผลให้มีน้ำไหลย้อนเข้าชายคาเพื่อนบ้านเมื่อฝนตกหนัก (หรือไหลเข้าบ้านของเรา หากเพื่อนบ้านติดตั้งรางน้ำฝนลักษณะนี้)

        ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยการติดตั้งแผ่นปิดครอบหรือแฟลชชิ่ง (Flashing) ที่ใช้ปิดรอยต่อระหว่างหลังคากันสาดกับผนังบ้าน เพื่อรองรับและบังคับน้ำให้ไหลตามรางลงด้านล่างโดยไม่ไหลย้อนเข้าชายคา  หรือจะใช้อีกวิธีคือ ติดรางน้ำฝนด้านล่างตรงกลางระหว่างหลังคา 2 ฝั่งที่ใช้ร่วมกันได้ อาจจะทำให้ด้วยแผ่นสังกะสีหรือสแตนเลสพับขึ้นรูป เพื่อให้รองรับพื้นที่เฉพาะที่เป็นปัญหาได้อย่างเหมาะสม จบปัญหาทั้งสองฝ่าย แต่ข้อนี้ต้องพูดคุยทำความตกลงกับเพื่อนบ้านและจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายร่วมกัน

 

  

  • เลือกขนาดรางไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝน ทำให้น้ำล้นราง

        ขนาดความกว้าง-ลึกของรางน้ำฝน  เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้รางไม่สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน จนล้นออกนอกรางไปสร้างความเสียหายยังบ้านข้าง ๆ ได้  ดังนั้นก่อนติดตั้งจึงต้องศึกษาปริมาณน้ำฝนในช่วงที่ตกหนักของท้องถิ่นที่อยู่อาศัยก่อน เพื่อมองหารางที่มีความกว้างและความลึกพอดี  รูปทรงรองรับน้ำฝนได้เหมาะสมและไม่ตื้นเกินไป โดยทั่วไปรางน้ำฝนจะกว้างประมาณ 4-6 นิ้ว  ลึกประมาณ 3 นิ้ว ซึ่งต้องประเมินพร้อมกับความยาวของรางและจำนวนจุดระบายน้ำให้สัมพันธ์กับพื้นที่รับน้ำจากหลังคาด้วย

 

 

สำหรับรางน้ำฝนไวนิลเอสซีจีมีให้เลือกสองรุ่นคือ  รุ่นเดอลุกซ์และรุ่นสมาร์ท มีรูปทรง ขนาดและคุณสมบัติต่างกัน ดังนี้

รุ่นเดอลุกซ์   รางน้ำฝนสีขาว รูปทรงมาตรฐาน มีขอบด้านในและด้านนอกอยู่ระดับเสมอกัน มีระบบ Super Flow Design ระบายน้ำฝนออกจากตัวรางได้อย่างรวดเร็ว ด้วยรูปทรงและระบบระบายน้ำที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ

รุ่นสมาร์ท  มีขอบด้านนอกสูงกว่าด้านใน (Splash Guard) ช่วยป้องกันน้ำฝนกระเด็นออกนอกราง ถ้ามองจากรูปตัดจะเห็นเป็นรูปทรง ป.ปลา รูปทรงนี้เหมาะกับบ้านที่มีชายคาใกล้กับเพื่อนบ้านมาก ๆ เพราะป้องกันน้ำกระเด็นออกนอกรางไปยังพื้นที่ของเพื่อนบ้านได้ดี

 

 

        รางน้ำฝนรุ่นสมาร์ท มีระบบ Over FlowSystem ที่ฝาปิดปลายรางโค้งเว้า หากมีการอุดตันจนท่อไม่สามารถระบายน้ำได้ทันแล้ว น้ำจะล้นออกทางฝาปิดปลายรางนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าของบ้านทราบว่ามีสิ่งอุดตันที่ท่อระบายของรางน้ำแล้ว ยังช่วยปกป้องเชิงชายและฝ้าเพดานของบ้านอีกด้วย รุ่นนี้มีให้เลือก 2 สี คือ สีขาว และสีน้ำตาลเข้ม จึงสามารถเลือกให้เข้ากับชายคาหรือหลังคาบ้านได้ง่ายมากขึ้น

 

 

  • ติดตั้งท่อระบายน้ำฝนสั้น แบบปล่อยน้ำกระเซ็น

        เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยเห็นบ้านที่ติดตั้งรางน้ำฝน แต่ไม่ได้ต่อท่อระบายน้ำหรือติดตั้งแบบสั้น ๆ ปล่อยน้ำทิ้งลงมา จนถึงพื้น สิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีน้ำกระเด็นออกไปยังบริเวณบ้านข้าง ๆ สร้างความหงุดหงิดใจให้เพื่อนบ้านได้ ไม่เพียงเท่านี้น้ำฝนที่กระเด็นยังสร้างความเสียหายจากความชื้นสะสมกับผนังบ้าน ประตู และหน้าต่าง การแก้ไขทำได้ 2 วิธี คือ ติดตั้งต่อท่อระบายจากรางน้ำฝนลงสู่ท่อระบายน้ำด้านล่าง หรือติดตั้ง โซ่ระบายน้ำ โซ่จะคอยควบคุมทิศทางของน้ำไม่ให้กระเด็นเลอะไปทั่วบริเวณ และช่วยชะลอการกระแทกของผิวน้ำ ลดการทรุดพังของหน้าดิน

 

 

        หากสำรวจครบทุกจุดที่กล่าวมาว่าจัดการเรียบร้อย ก็สามารถตัดวงจรปัญหาที่จะเกิดต่อบ้านเราเองและบ้านเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ตามหากต้องการติดตั้งรางน้ำฝนและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ อย่าลืมมองหาทีมงานช่างคุณภาพ เพื่อให้การติดตั้งเป็นไปอย่างถูกวิธีตามมาตรฐาน เพื่อรับประกันว่ารางน้ำฝนจะรับมือกับฤดูฝนได้เป็นอย่างดีครับ

 

สนใจบริการติดตั้งรางน้ำฝนไวนิล เอสซีจี

ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรีได้ที่ SCG Home Solution, SCG Experience หรือตัวแทนจำหน่ายรางน้ำฝนไวนิล เอสซีจี หรือ โทร. 02-586-2222



แท็กที่เกี่ยวข้อง