เคล็ดลับน่ารู้

รวมความเชื่อผิดๆ การซ่อมหลังคา ซ่อมแบบนี้ไม่มีวันหายรั่ว

44.5K

12 มกราคม 2567

รวมสาเหตุหลังคารั่ว ซ่อมหลังคาแบบนี้ไม่มีวันหาย

        หน้าฝนในทุกปี หลายบ้านที่ต้องเจอปัญหาหลังคารั่วซึม เนื่องจากผ่านการใช้งานมานานหลายปี ย่อมมีการเสื่อมสภาพ ชำรุด แตกร้าว เสียหาย ตามกาลเวลา เมื่อเจอกับหน้าฝนทีไรต้องปวดหัว และผวากับปัญหาหลังคารั่วซึมทุกครั้งที่ฝนตก หลายบ้านมักจะละเลยการซ่อมหลังคาในช่วงหน้าแล้ง เพราะคิดว่าไม่เป็นไร ยังไม่กระทบกับการอยู่อาศัย เลือกเก็บปัญหาไว้อยู่อย่างนั้น รู้ตัวอีกทีก็เข้าหน้าฝนซะแล้ว.....

        แน่นอนว่าถ้าหากบ้านของเราเกิดปัญหาหลังคารั่วแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการติดต่อช่างเพื่อซ่อมหลังคา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหลังคารั่วที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ซึ่งหลังจากซ่อมไปได้ไม่นานหลายบ้านเกิดปัญหาหลังคารั่วซ้ำ ทำให้ต้องเรียกใช้บริการจากช่างซ่อมหลังคาอยู่เรื่อยๆ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมหลังคาถึงรั่ว?

3 สาเหตุหลักต้นเหตุหลังคารั่ว

        1. มุงหลังคาผิดมาตรฐานตั้งแต่ตอนสร้างบ้านใหม่
        หากบ้านของคุณมีปัญหาหลังคารั่วจากสาเหตุนี้ ขอบอกเลยว่าค่อนข้างที่จะซ่อมยาก เพราะอาจเป็นปัญหาจากโครงสร้างด้วย เช่น ความลาดชันไม่พอทำให้เวลาฝนตกน้ำไหลย้อนกลับเข้าไปใต้แผ่นกระเบื้องหลังคา , การติดตั้งระยะแปผิดมาตรฐาน , การมุงกระเบื้องฉีกแนว, มุงไม่สนิท , การติดตั้งรางน้ำตะเข้ที่ขนาดไม่สัมพันธ์กับพื้นที่หลังคา หรือแม้แต่การติดตั้งครอบผิดวิธี เช่น การอุดปูนเต็มสันหลังคา หรือตะเข้สัน ก็สามารถส่งผลให้หลังคารั่วได้เช่นเดียวกัน

ภาพ : การติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน จากการติดตั้งโครงเหล็กอ่อนไม่แข็งแรง หรือโครงหลังคาที่ไม่ได้ระดับ

        หากสาเหตุดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้หลังคารั่ว วิธีการซ่อมหลังคาที่ดีที่สุด คือ การรื้อ-เปลี่ยนหลังคาทั้งผืน (Re-Roof) เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดตั้งแต่เรื่องความลาดชัน ระยะแป การมุง งานรางตะเข้ รวมถึงการติดตั้งครอบ ให้ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อจบปัญหาหลังคารั่วได้อย่างหายขาดถาวร (เรื่องความลาดชัน (Slope หลังคา) เราไม่สามารถแก้ไขให้ชันขึ้นได้ แต่เราใช้วิธีเสริมระบบกันรั่วไปช่วยป้องกันการรั่วไม่ให้รั่วลงถึงตัวบ้าน)

ภาพ : การติดตั้งงานปูนใต้ครอบตะเข้สันเต็ม เป็นการติดตั้งงานครอบผิดวิธี

        การติดตั้งงานปูนใต้ครอบตะเข้สันเต็ม เป็นการติดตั้งงานครอบผิดวิธี เนื่องจากปูนเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรั่วได้ดีแค่เพียงช่วง 2-3 ปีแรก เพราะเมื่อปูนเริ่มแห้งสนิทแล้วจะเริ่มเกิดเป็นโพรงอากาศเล็กๆ ที่เสมือนฟองน้ำ เมื่อเจอฝนจะดูดน้ำเข้าไปแทนโพรงอากาศ และรั่วซึมลงบ้าน ซึ่งยิ่งหลายปีก็จะยิ่งรั่วให้เห็นชัดเจนขึ้น เสมือนเป็นระเบิดเวลา

        2. ไม่ Maintenance หลังคาให้ดี
        หลายบ้านหลังคารั่วเกิดจากขาดการดูแล ขาดการบำรุงรักษาให้ดี เช่น มีใบไม้มีเศษกิ่งไม้ ร่วงกองอยู่บนหลังคาสะสมเป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดปัญหาหลังคารั่วขึ้นมา เพราะใบไม้จะไปอุดขวางทางน้ำ จนน้ำฝนไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก กลายเป็นปัญหาหลังคารั่วในที่สุด หรือกิ่งไม้ขนาดใหญ่ละหลังคา หรือหักร่วงทำให้หลังคาเสียหาย

ภาพ : หลังคามีเศษใบไม้ กิ่งไม้อุดตัน ส่งผลให้หลังคารั่ว

        สาเหตุหลังคารั่วที่เกิดจากการขาดการดูแลรักษา วิธีการแก้ไข คือ ให้ช่างขึ้นทำความสะอาดหลังคา ไม่ให้มีใบไม้ หรือกิ่งไม้หลงเหลืออยู่ ตัดแต่งต้นไม้ให้เหมาะสม หลังจากนั้นจึงทำการซ่อมรั่วหลังคา ซึ่งหากรั่วไม่มากสามารถซ่อมเฉพาะจุดรั่วได้ (Roof Repair) แต่หากช่างตรวจสอบแล้วว่าหลังคารั่วหนักมาก เสียหาย และรั่วหลายจุด วิธีการซ่อมรั่วหลังคาที่ดีที่สุดอาจจะต้องถึงขนาดรื้อ-เปลี่ยนหลังคาทั้งผืน (Re-Roof) ขึ้นอยู่กับอาการ

       3. หลังคา และอุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ
       อีกหนึ่งสาเหตุหลักของหลังคารั่วเกิดจาก การที่หลังคาผ่านการใช้งานมานานหลายปีทำให้หลังคา และอุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ ซึ่งหลายบ้าน หรือช่างหลายๆ ท่านมักจะเลือกวิธีการซ่อมหลังคาแบบอุด โปะ ปะ เพราะค่อนข้างง่าย และงบประมาณต่ำ แต่หารู้ไม่ว่าวิธีการซ่อมแบบดังกล่าวอยู่ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น 6 เดือน – 1 ปี เมื่อวัสดุเสื่อมสภาพ มีโอกาสกลับมารั่วซ้ำ

ภาพ : ตัวอย่างงานซ่อมหลังคาแบบใช้ปูนโปะบริเวณจุดรั่ว

        หากเปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพ คือ หลังคาและอุปกรณ์หลังคาก็เหมือนรถยนต์ เมื่อผ่านการใช้งานมานานวัสดุย่อมมีวันเสื่อมสภาพ จำเป็นต้องรื้อ-เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งาน ดังนั้นวิธีการซ่อม-ปรับปรุงหลังคาที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนอุปกรณ์หลังคาในจุดที่มีปัญหา (Roof Repair) แต่หากช่างตรวจสอบแล้วว่าหลังคาชำรุดเสียหายมาก หรือรั่วหลายจุด วิธีการซ่อมรั่วหลังคาที่คุ้มค่า ดีที่สุดอาจจะเป็นการรื้อ-เปลี่ยนหลังคาทั้งผืน (Re-Roof) ขึ้นอยู่กับสภาพอาการปัญหาเดิม

เรามาดูกันต่อว่าวิธีการซ่อมรั่วหลังคาแบบไหนที่แก้ไขได้แค่ชั่วคราว ไม่หายขาดถาวร

รวมความเชื่อผิดๆ การซ่อมหลังคา ซ่อมแบบนี้ไม่มีวันหายรั่ว

        1. ซ่อมหลังคาแบบโปะปูนอุดจุดรั่ว
        ยิ่งโปะปูนหนาแค่ไหน ยิ่งดีเท่านั้น น้ำไม่มีวันไหลเข้าหลังคาได้ การซ่อมแบบนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นความเชื่อที่หลายคนมักจะเข้าใจผิด เพราะถ้ายิ่งโปะปูนหนาเท่าไหร่ นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดวิธีแล้ว ปูนที่อุดโปะเข้าไปจะเป็นตัวพาน้ำให้เข้าไปรั่วได้ง่ายขึ้นด้วย เนื่องจากปูนเมื่อแห้งสนิทแล้วมักจะแตกร้าว ทั้งยังดูดน้ำ อุ้มน้ำ ส่งผลให้หลังคารั่วซ้ำซากแก้ยังไงก็ไม่หายจริงสักที

ภาพ : การซ่อมหลังคาแบบโปะปูนอุดจุดรั่ว

        2. ซ่อมรั่วหลังคาด้วยการยาซิลิโคน
        วิธีนี้เป็นวิธียอดนิยมอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากง่ายและสะดวกที่สุด ซึ่งหารู้ไม่ว่า นอกจากซิลิโคนไม่ใช่วัสดุที่คงทนถาวร อยู่ได้ระยะเวลาสั้นแล้ว 6 เดือน - 1 ปีเท่านั้น ซิลิโคนที่ซีลลงไป เมื่อเริ่มเสื่อมสภาพกลับไปอุดขวางทางน้ำระหว่างกระเบื้องแต่ละแผ่นแทน ทำให้เสี่ยงรั่วง่ายมากกว่าเดิมอีกด้วย และเมื่อหากต้องการจะแก้ไข ตัวซิลิโคนจะทำให้การแกะ ถอด รื้อกระเบื้องต้องยุ่งยาก ใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

ภาพ : การซ่อมหลังคารั่วด้วยการยาซิลิโคน

       3. ซ่อมรั่วหลังคาด้วยการทากันซึม
       ช่างหรือ เจ้าของบ้านหลายๆ ท่านที่ต้องเลือกซ่อมโดยวิธีนี้ เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุของปัญหาหลังคารั่วจริงๆ มาจากจุดไหน จึงเลือกที่จะทากันซึมให้ทั่วทั้งหลังคาเลย ซึ่งวิธีการนี้ อาจแก้ไขได้จริงในระยะสั้นๆ 6 เดือน - 1 ปีเท่านั้น

ภาพ : การซ่อมหลังคารั่วด้วยการทากันซึม

        ปัญหาการซ่อมจะเหมือนวิธียาซิลิโคน คือ เมื่อวัสดุเริ่มเสื่อมสภาพแทนที่จะเป็นตัวช่วยป้องกัน แต่กลับกลายเป็นตัวเร่งให้รั่วง่ายและมากกว่าเดิม เนื่องจากน้ำยาไปอุดขวางทางน้ำระหว่างกระเบื้องแต่ละแผ่นแทน จากเดิมที่อาจรั่วเพียงไม่กี่จุด หลังจากทาน้ำยากันซึมมักพบว่าหลังคารั่วทั้งผืนเลย และเมื่อต้องการจะแก้ไข ก็จะทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากรื้อเปลี่ยนหลังคาใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

        4. ซ่อมรั่วหลังคาด้วยการซีลหัวสกรู
        อาการรั่วแบบนี้ มักมีสาเหตุจากอุปกรณ์ยึดหลังคาเสื่อมสภาพ หรือช่างติดตั้งไม่สนิท ยึดไม่ตรงสกรูเอียง จึงทำให้เกิดปัญหารั่ว และวิธีนี้ถือเป็นวิธีการซ่อมรั่วหลังคายอดนิยม เพราะง่าย และ ถูก แต่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น 6 เดือน - 1 ปี เพราะวัสดุมีอายุสั้น เสื่อมสภาพง่าย และมีโอกาสรั่วได้ซ้ำๆ ทั้งยังอันตรายอีกด้วย หากไม่ระวังในการขึ้นทำงานกับกระเบื้องหลังคาประเภทนี้

ภาพ : ตัวอย่างการซ่อมด้วยการซีลหัวสกรู

        5. ซ่อมรั่วหลังคาด้วยการฉีดโฟมใต้หลังคา
        การซ่อมแผ่นแตก ร้าว รั่วซึม ด้วยการฉีดโฟมเป็นการแก้ไขที่เข้าใจผิดว่าแก้ไขได้จริง แต่มักเป็นตรงข้าม และทำให้การทำงานแก้ไขจริงเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ทั้งยังแฝงผลสืบเนื่องอย่างคาดไม่ถึง

ภาพ : ตัวอย่างการซ่อมด้วยการฉีดโฟม

        ปัจจุบันการแก้ไขด้วยวิธีนี้เริ่มมีความสะดวกกว่าเมื่อก่อนมาก เนื่องจากปัจจุบันมีขายเป็นกระป๋องคล้ายกระป๋องสีสเปรย์สำหรับซ่อมเป็นจุด และมีทั้ง Clipโฆษณา สาธิตการใช้งานให้ชวนเชื่อว่าสามารถแก้ไขรั่วได้จริง

        จากกระบวนการดังกล่าว แผ่นหลังคาทั้งหมดรวมถึงจุดรั่วต่างๆ จะถูกโฟมเข้าไปแทนที่ช่องว่างรวมถึงโฟมจะดันแผ่นกระเบื้องให้ยกตัวขึ้น เกิดการอ้าเผยอ กรณีที่พ่นทั่วหลังคาแบบในรูป กระเบื้องทุกแผ่นจะถูกโฟมยึดประสานไว้ด้วยกันทั้งผืนอย่างแน่นหนา เสมือนเป็นแผ่นเดียวกัน จากลักษณะดังที่กล่าวมา ทำให้มีผลสืบเนื่องคือ
        1. ผิวโฟมบางๆ มีความเสียหายง่าย และอาจไม่ได้ผสานกัน อาจมีรู มีตามดเกิดขึ้นทั่วไป โฟมส่วนที่ดันแผ่นกระเบื้อง หรือที่ดันตัวออกจากรอยร้าวหรือจุดรั่วซึมเดิม จะเป็นตัวเปิดทางให้น้ำรั่วเข้ามาได้ดีกว่าเดิม
        2. โฟมจะยึดประสานกระเบื้องทุกแผ่นไว้ด้วยกันทั้งผืน จะทำให้การดูแล Service เปลี่ยนกระเบื้องทำใด้ยากลำบากมาก ทำให้การทำงานลุกลามจำกัดขอบเขตยากมาก ยิ่งโฟมหนายิ่งเสียเวลาและลุกลามมาก
        3. การฉีดโฟมในระยะยาวจะทำให้กระเบื้องหลังคาแตกได้มากกว่าปกติ

ซ่อมหลังคาแบบไหนปัญหารั่ว ถึงหายขาดถาวร

        การซ่อมหลังคารั่วได้หายขาดถาวรที่สุด คือ การแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ ไม่ให้ยึดถือเอาวิธีการซ่อมแบบปฐมพยาบาลเป็นจุดในการซ่อมแบบจริงจัง หรือพูดให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น คือ เมื่อหลังคาหรืออุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ ก็จำเป็นต้องรื้อ-เปลี่ยนหลังคาและอุปกรณ์หลังคาในส่วนที่มีปัญหาใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานหลังคาให้ยาวนานขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

        หลังคารั่วบริเวณสันหลังคา จากการติดตั้งผิดวิธี
        สาเหตุหลังคารั่วจากการติดตั้งครอบผิดวิธี วิธีการซ่อมแบบชั่วคราวอาจจะแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยการอุดซีลไปก่อนเพื่อบรรเทา แต่การซ่อมที่ถูกต้องตรงจุด คือ รื้อ-แล้วทำใหม่ให้ตรงตามมาตรฐาน ให้ถูกวิธี และอาจเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์หลังคาแบบใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ยึดครอบระบบแห้ง (Drytech system) เอสซีจี ซึ่งช่วยป้องกันการรั่วซึมได้ดีกว่าการยึดครอบระบบเปียกแบบใช้ปูนแบบเดิม แถมทนความร้อนได้ดีกว่าอีกด้วย

        หลังคารั่ว บริเวณตะเข้ราง
        สาเหตุหลังคารั่วบริเวณตะเข้รางมักเกิดจาก ตัวรางน้ำตะเข้ ชำรุด หรือขนาดหรือรูปร่างผิดมาตรฐาน ซึ่งปกติรางน้ำตะเข้จะต้องทำหน้าที่ระบายน้ำ (Drain น้ำ) จากหลังคา 2 ผืน หากชำรุด หรือขนาดหรือรูปร่างผิดมาตรฐาน จะทำให้เกิดปัญหารั่วง่ายกว่าส่วนอื่น จะต้องแก้ไขโดยการรื้อ-เปลี่ยนอุปกรณ์รางน้ำตะเข้ใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน พร้อมทั้งเปลี่ยนแผ่นหลังคาและตัดแต่งใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อให้สามารถป้องกันปัญหาหลังคารั่วได้อย่างสมบูรณ์

        หลังคารั่ว จากอุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ
        ปัญหาหลังคารั่วจากอุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ เนื่องจากหลังคาผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน วิธีการซ่อมรั่วหลังคาที่ถูกต้อง คือ รื้อ-เปลี่ยนอุปกรณ์หลังคาใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ยึดครอบระบบแห้ง (Drytech system) เอสซีจี ซึ่งช่วยป้องกันการรั่วซึมได้ดีกว่าเดิมการยึด แถมทนทานความร้อนได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย

       หลังคารั่ว ร้าว หลายจุดทั่วทั้งหลัง
       หลังคาเก่า ที่มีปัญหารั่วซึม นั้นเป็นสัญญาณให้ทราบว่า หลังคาส่วนใดส่วนหนึ่งเริ่มถึงรอบในที่จะต้องได้รับดูแลปรับปรุง-แก้ไขแล้ว สำหรับหลังคารั่ว ร้าว หลายจุดทั่วทั้งหลังแล้ววิธีการซ่อมหลังคาที่ดีที่สุด และหายขาดถาวรอาจจำเป็นจะต้องรื้อ-เปลี่ยนหลังคาทั้งผืน (Re-Roof) น่าจะคุ้มค่าในระยะยาวที่สุด

        และใครที่กังวลว่าหน้าฝนกำลังมาถึงแล้ว หากหลังคารั่วทำไงดี? ช่างจะสามารถซ่อมแซมหลังคาที่เสียหายอยู่ได้หรือไม่ บอกได้เลยว่าสบายมาก เพราะทีมช่างของ SCG Roof Renovation ได้กำหนดแผนการซ่อมแซมเป็นอย่างดี รวมถึงไม่ได้รื้อหลังคาทั้งหมด แต่ใช้วิธีการรื้อและซ่อมเป็นบางส่วน รวมถึงใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันฝน และฝุ่นต่าง ๆ เข้าไปในตัวบ้าน ทำให้เจ้าของบ้านสบายใจไร้กังวลไปได้

        เมื่อได้รู้จักวิธีการซ่อมหลังคาในแบบของ SCG Roof Renovation แล้ว และอยากบอกลาปัญหาหลังคารั่วซ้ำซากอย่างถาวร ท่านเจ้าของบ้านที่สนใจใช้บริการสามารถติดต่อได้ที่ SCG Experience , SCG Home Solution, SCG Roofing Center และ SCG Home บุญถาวร ทั่วประเทศ หรือสามารถโทรสอบถามเพิ่มติมได้ที่ SCG HOME Contact Center 02-586-2222 หรือเปิดสำรวจปัญหาหลังคาผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ scghome.com

แท็กที่เกี่ยวข้อง