เคล็ดลับน่ารู้

ออกแบบห้องประชุม ห้องสัมมนา ต้องลดเสียงก้องป้องกันเสียงดัง

14.5K

12 มกราคม 2567

ออกแบบห้องประชุม ห้องสัมมนา ต้องลดเสียงก้องป้องกันเสียงดัง 

"แนวทางการออกแบบระบบผนังกันเสียงและลดเสียงก้องสำหรับห้องประชุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน"

       สำหรับอาคารสาธารณะในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นอาคารราชการ มหาวิทยาลัย โรงแรมหรือรีสอร์ทต่าง ๆ “ห้องประชุม ห้องสัมมนา” ถือเป็นฟังก์ชันที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าฟังก์ชันการใช้งานในส่วนอื่น ซึ่งนอกจากจะต้องคำนึงถึงการออกแบบ จัดวาง เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในห้องประชุมแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในขั้นตอนการออกแบบคือระบบเสียงหรือระบบอะคูสติกภายในห้องที่เหมาะสม เพื่อป้องกันเสียงดังทะลุผ่านเข้า-ออก รวมถึงช่วยลดเสียงก้องหรือเสียงสะท้อน ทำให้ใช้งานห้องประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ออกแบบห้องประชุม ห้องสัมมนาให้เก็บเสียง

       เพื่อป้องกันเสียงจากภายในห้องหรือเสียงจากนอกห้องดังรบกวนกัน เราจึงต้องออกแบบผนังกันเสียงให้มีค่าการกันเสียง (STC) ที่เหมาะสม อย่างเช่นกรณีห้องประชุมในอาคารสำนักงาน ควรพิจารณาว่า ห้องประชุมอยู่ติดกับห้องอะไร เพื่อออกแบบระบบผนังกันเสียงตามค่า STC ที่กำหนด ดังตาราง

ภาพ: ตารางแสดงค่า STC ของผนังที่แนะนำสำหรับสำนักงาน (อ้างอิงจากคู่มือปฏิบัติวิชาชีพ การออกแบบคุณภาพเสียงในอาคารปี พ.ศ. 2561 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมถ์)

ภาพ: ตัวอย่างการกำหนดค่า STC ที่เหมาะสมสำหรับผนังแต่ละส่วนในสำนักงาน

       จากค่า STC ที่ระบุไว้สำหรับผนังแต่ละด้าน เราจึงออกแบบระบบผนังเพื่อให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมดังนี้

ภาพ: ระบบผนังกันเสียง เอสซีจี

       ระบบผนังที่แนะนำเป็นระบบผนังเบาที่ไม่ส่งผลต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้างมากนัก โดยติดตั้งวัสดุอะคูสติก เอสซีจี รุ่น Cylence Zoundblock ไว้ตรงกลางระหว่างโครงคร่าวผนัง แล้วปิดทับด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ที่มีความหนา 8 มม. ขึ้นไป หรือยิปซั่มบอร์ดความหนา 12 มม. ขึ้นไป หากมีประตูหรือหน้าต่างควรเลือกรูปแบบที่มีขอบยางโดยรอบ ยาแนวรอบวงกบมิดชิด เลือกใช้วงกบที่มีบังใบ หรือมีซับวงกบ เพื่อช่วยลดเสียงลอดผ่านเข้า-ออก

ภาพ: ตัวอย่างประตูที่มีซับวงกบช่วยลดเสียงลอดผ่านเข้า-ออก

ลดเสียงก้องที่ผนังห้อง เพื่อฟังชัดเจนมากขึ้น

       โดยปกติเสียงก้องในห้องประชุม ห้องสัมมนา มักเกิดจากการสะท้อนเสียงไปมาที่บริเวณผนังทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เรานั่งประชุมกัน การแก้ไขสามารถทำได้โดยการติดตั้งวัสดุที่ช่วยดูดซับเสียง ซึ่งควรมีพื้นผิวไม่เรียบ มีรูพรุนช่วยดูดซับเสียง และมีผิวสัมผัสไม่แข็ง เช่น ติดตั้งผนังไม้ตีเป็นร่อง กรุแผ่นฟองน้ำหุ้มผ้า หรือติดตั้งแผ่นซับเสียงของเอสซีจี (วัสดุอะคูสติก รุ่น Cylence Zandera) ที่มีค่าการดูดซับเสียง (NRC: Noise Reduction Coefficient) สูงถึง 0.75 ติดตั้งง่าย และสามารถเป็นแผ่นตกแต่งผนังได้อย่างสวยงาม

ภาพ: เปรียบเทียบค่าเสียงก้องในห้องประชุมก่อนและหลังการติดตั้งวัสดุอะคูสติก เอสซีจี รุ่น Cylence Zandera

ภาพ: สร้างสรรค์ลวดลายและสีสันบนผนังห้องประชุมได้ตามต้องการด้วย วัสดุอะคูสติก เอสซีจี รุ่น Cylence Zandera

       ทั้งนี้ หากห้องมีขนาดใหญ่เกิน 4x6 เมตร สามารถเลือกปูพรม หรือเลือกใช้ฝ้าอะคูสติกเพิ่มเติม รวมถึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ทำจากผ้า หรือติดผ้าม่านยาวถึงพื้น ก็จะช่วยลดเสียงก้องในห้องประชุมหรือห้องสัมมนาได้มากขึ้น

ภาพ: ติดตั้งฝ้าอะคูสติกเพิ่มเติมช่วยลดเสียงก้องในห้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง